เทคนิคการระบายสีน้ำ
การสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมสีน้ำ มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจคุณสมบัติของสีน้ำ และต้องสามารถควบคุมได้ การลงมือทดลองจะเห็นธรรมชาติ และความเป็นไปของมัน การฝึกฝนจะทำให้รู้จังหวะและควบคุมได้ เทคนิคพื้นฐานการระบายสีน้ำ 5 ประการนี้ จะทำให้ผู้เริ่มต้นรู้จักสีน้ำอย่างถ่องแท้และสามารถนำไปสร้างสรรค์ภาพ จิตรกรรมสีน้ำที่สมบูรณ์ ได้อย่างแน่นอน
1. การระบายแบบเปียกบนเปียก (Wet ON Wet) คือสีเปียก (สีผสมน้ำแล้ว) ระบายบนกระดาษเปียก (กระดาษที่ระบายน้ำหรือน้ำสีไว้แล้ว) วิธีการคือ ใช้พู่กันจุ่มสี (ค่อนข้างข้น) แตะแต้มบนกระดาษที่เปียกอยู่แล้วตามด้วยสีอื่น สีจะไหลซึม รุกรานเข้าหากันอย่างกลมกลืนและมีส่วนที่เกิดเป็นสีใหม่เพิ่มขึ้นมา ถ้าทำบนกระดาษเปียกชุ่ม สีจะรุกรานกันรวดเร็วและนุ่มนวล เทคนิคนี้นำไปใช้ระบายท้องฟ้า หรือน้ำทะเล ได้ถ้าทำบนกระดาษเปียก สีจะรุกรานไม่มากแต่ยังคงผสมผสานกลมกลืนกันดี เทคนิคนี้นำไปใช้ระบายเป็นพวกวัตถุรูปทรงทั่วไปได้ถ้าทำบนกระดาษหมาด สีจะผสมผสานกลมกลืนกันน้อย เห็นการแยกสัดส่วนชัดเจนกว่า เทคนิคนี้นำไปใช้ สร้างพื้นผิวแสดงความแตกต่าง ไม่เรียบ
2. การระบายแบบเปียกบนแห้ง (Wet ON Dry)
เป็นลักษณะการระบายเรียบโดยใช้สี (ผสมน้ำแล้ว) ระบายบนกระดาษแห้งมี 3 รูปแบบดังนี้
- ระบายเรียบสีเดียว (Flat wash) โดยใช้พู่กันจุ่มสีระบายไปตามแนวนอนบนกระดาษที่เอียงเล็กน้อยให้น้ำสีไหลลง ไปกองข้างล่างแล้วระบายต่อเนื่องกันลงไปจนจบ การระบายครั้งต่อไปให้ต่อที่ใต้คราบน้ำที่ยังเปียกอยู่ ผลที่ได้คือสีจะใส เรียบสม่ำเสมอ ระวัง อย่านำพู่กันไปจุ่มน้ำ หรือเติมน้ำลงในสี ระหว่างทำงานเพราะจะทำให้สีที่ได้ไม่เรียบเกิดเป็นขั้นได้
- ระบายเรียบหลายสี (Colour wash) ทำเหมือนกับระบายเรียบสีเดียวแต่เมื่อจบสีที่ 1 แล้วให้ระบายสีที่ 2 ต่อที่ใต้คราบน้ำขณะที่เปียกอยู่ ผลที่ได้คือ สีต่างๆ จะมีการผสมผสานกลมกลืนกันอย่างต่อเนื่อง หมายเหตุ ทั้งการระบายเรียบสีเดียว และ หลายสี เป็นพื้นฐานของงานสีน้ำที่นำไปใช้ระบาย ให้เกิดภาพแล้วแต่ว่าจะให้เป็นสีเดียว หรือหลายสี เช่น ภาพคนใส่เสื้อผ้า ก็ต้องเป็นระบายเรียบหลายสี
- ระบายเรียบอ่อนแก่ (Grade wash) เป็นการระบายให้เกิดค่าน้ำหนักของสี จะเริ่มจากอ่อนไปหาแก่ หรือ จากแก่ไปหาอ่อนก็ได้ ถ้าเริ่มจาก แก่ไปหาอ่อน ก็ผสมสีให้ข้นกว่าปกติ แล้วระบายเรียบได้ช่วงหนึ่งให้ล้างพู่กันจนสะอาดแล้วจุ่มน้ำมาระบายใต้คราบ น้ำเป็นระยะๆให้สีจางลงไปเรื่อยๆ ถ้าเริ่มจาก อ่อนไปหาแก่ ให้ผสมสีเจือจางแล้วระบายเรียบไปช่วงหนึ่ง ก็เพิ่มสีให้มีความเข้มข้นขึ้น แล้วระบายต่อใต้คราบน้ำลงมา เป็นระยะๆ ให้สีเข้มขึ้นการระบายเรียบอ่อนแก่ เป็นเทคนิคที่นำไปใช้ระบายให้เกิด มิติ แสง-เงา
3. การระบายแบบแห้งบนแห้ง (DRY ON DRY) เป็นการระบายสีข้นๆบนกระดาษแห้งในลักษณะต่างๆเช่น แตะ แต้ม ขีด เขียน ลากเส้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการใช้ส่วนต่างๆของพู่กันคือปลายบ้าง โคนบ้างเพื่อให้เกิดเป็นลักษณะต่างๆ เทคนิคนี้นำไปใช้เน้นเพื่อเพิ่มรายละเอียดของภาพ เช่น เมื่อเราทำภาพตัวบ้านเสร็จแล้วเราก็มาใส่ประตู หน้าต่าง ด้วยการใช้สีข้นๆ แตะ แต้ม ลงไปเราก็จะได้รายละเอียดของภาพแบบ DRY ON DRY
4. การระบายเคลือบ (Glazing)
เป็นการระบายทับซ้ำสีที่แห้งสนิท แล้วด้วยสีเดิมที่เข้มกว่า โดยสีที่ระบายเคลือบนี้ควรต้องเป็นสีโปร่งแสง ผลที่ได้คือ ส่วนที่ระบายเคลือบจะเป็นพื้นและส่วนที่เว้นไว้จะเป็นรูป ซึ่งรูปกับพื้นนี้จะมีความขัดแย้งหรือตัดกันเสมอ คือถ้าพื้นเข้มรูปต้องอ่อน ถ้าพื้นอ่อนรูปต้องเข้ม เทคนิคการระบายเคลือบนี้นำไปใช้ สร้างรูปทรง ผลักระยะให้ลึกตื้น สร้างเงา ลดความจัดจ้านของสีบรรยากาศ
5. การระบายขอบคมชัดและเรือนราง (Hard edge/Soft edge)
Hard edge เป็นการระบายให้เกิดการตัดกัน แบ่งขอบเขตระหว่างรูปกับพื้นหรือพื้นกับรูปอย่างชัดเจน หรือให้เกิดเป็นเหลี่ยมเป็นสัน วิธีการ คือระบายเป็นขอบตามที่ต้องการแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำให้เกิดการกลมกลืน เช่นกรณีเขียนภาพทิวทัศน์ที่มีบ้านในสวน เราให้ส่วนที่เป็นหลังคาเว้นขาวไว้เพราะเป็นส่วนที่รับแสง ถัดจากหลังคาไปเป็นบรรยากาศก็ให้ใช้สีของบรรยากาศเพิ่มความเข้มระบายกดระยะ ลงไปเป็น Hard edgeเพื่อให้ตัวบ้านและบรรยากาศโดยรอบตัดกันเป็นขอบคมชัด แยกสัดส่วนกันเพื่อให้บ้านดูลอยเด่นขึ้นมา
Soft edge คือการเจือจางขอบเขตระหว่างพื้นกับรูปบางส่วนให้ดูกลมกลืนกัน วิธีการคือใช้น้ำมา soft ตรงเส้นขอบให้เกิดการเจือจาง เทคนิคนี้ใช้ในกรณีที่ต้องการลดความขัดแย้งให้เกิดการกลมกลืน เช่นกรณีระบายภาพคลื่นในทะเล บางจุดของคลื่นจะมีน้ำทะเลตัดกับฟองอย่างชัดเจน และบางจุดที่ต่อเนื่องจะมีความกลมกลืนกัน เพราะฟองคลายตัวลงหรืออาจเป็นส่วนที่รับแสง ตรงส่วนนี้ให้เราSoft edge โดยใช้น้ำมาSoft เพื่อละลายเส้นขอบแสดงความกลมกลืนได้
เทคนิคทั้ง 5 นี้มีความสำคัญที่คนสีน้ำต้องมี เมื่อเข้าใจถึงวิธีการ และประโยชน์การนำไปใช้แล้วจง หมั่นฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ เพราะไม่เพียงสำคัญกับผู้เริ่มต้นเท่านั้น ถึงวันที่เป็นศิลปินระดับโลกแล้วก็ยังคงต้องใช้เทคนิคทั้ง 5 นี้
ขอขอบคุณ
http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/22560/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น